Curiosity in Relationship เพราะ 'ความสงสัย' ทำให้เรารักกันมากขึ้น

Curiosity in Relationship เมื่อ ‘ความสงสัย’ ทำให้เรารักกันมากขึ้น

‘คนช่างสงสัยมีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกว่าคนไม่ช่างสงสัย’

หลายคนอาจคุ้นชินว่าการสงสัยในความสัมพันธ์มักทำให้เกิดรอยร้าว และอาจนำไปสู่จุดจบของความสัมพันธ์ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการศึกษาพบว่า ‘ความช่างสงสัย’ อาจเป็น ‘กุญแจสำคัญ’ ไปสู่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด และความรักที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น

ความสงสัยช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ได้อย่างไร?

ความสงสัย หรือ Curiosity คือ ความต้องการที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การค้นหาคำตอบเพื่อให้สามารถเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องที่เรามีความสนใจ รวมไปถึงเพื่อ ‘เข้าใจผู้คน’ ซึ่งการสงสัยนั้นนำไปสู่พฤติกรรม ‘ช่างสังเกต’ และเมื่อพูดในมุมของความสัมพันธ์ การที่เราอยากทำความเข้าใจในการกระทำ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของอีกฝ่าย การสังเกตนั้นมักแสดงออกผ่าน ‘ความสนใจ’ หรือ ‘ความใส่ใจ’ ที่มีให้กับอีกฝ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่การตั้งคำถาม ที่เป็นองค์ประกอบของการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของการเพิ่มระดับความใกล้ชิด (หรือ Intimacy ที่เป็นหนึ่งใน 3 แกนหลักของการมีความสัมพันธ์ที่ดี ตามทฤษฎี Triangular Theory of Love) จนต่างฝ่ายต่างรู้สึกไว้วางใจกัน และพัฒนากลายเป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในที่สุด

Curiosity ไม่ได้ใช้แค่ในความสัมพันธ์แบบคู่รักเท่านั้นนะคะ แต่ความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น เช่น เพื่อน พี่น้อง ครอบครัว ที่ทำงาน ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้เหมือนกัน และสามารถใช้ได้ในทุก Stage ของความสัมพันธ์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น ช่วงระหว่างดำเนินความสัมพันธ์ หรือช่วงปรับความเข้าใจตอนทะเลาะกัน การพยายามทำความเข้าใจกันและกันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจลุกลามจนทำร้ายความสัมพันธ์ได้ค่ะ

ขั้นตอนการพัฒนาความใกล้ชิดในความสัมพันธ์
สงสัย → สื่อสาร → ใกล้ชิด → เข้าใจกัน → ไว้วางใจกัน

ความสงสัยที่อาจ ‘ทำร้าย’ ความสัมพันธ์

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าการพยายามทำความเข้าใจในมุมมอง ความคิด อารมณ์ และความรู้สึกของอีกฝ่าย หรือ Empathy นั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาและปกป้องความสัมพันธ์ เพราะหากปราศจากการพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายแล้ว การสงสัยนั้นอาจกลายเป็นการ ‘ทำร้าย’ ความสัมพันธ์ได้ จากการที่เรามีคำถาม แต่ไม่สนใจฟังเหตุผลหรือความจริงจากอีกฝ่าย กลับกันเราตัดสินอีกฝ่ายมาแล้วว่าเค้าต้องคิดแบบนี้ ทำแบบนี้ ด้วยเหตุผลนี้แน่นอน ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์นี้บ่อยครั้ง จะส่งผลให้เมื่อเวลาผ่านไปเราจะสนใจในความต้องการหรือความรู้สึกของอีกฝ่ายน้อยลงเรื่อยๆ และเราจะสนใจแต่สิ่งที่เราต้องการเท่านั้น ทำให้มีแนวโน้มที่รูปแบบความสัมพันธ์จะกลายเป็นการบังคับบงการ (Manipulative Relationship) ซึ่งเป็น Toxic Relationship รูปแบบหนึ่ง

ความสงสัยที่ปกป้องเราจาก Toxic Relationship

นอกจากการตั้งคำถามในความสัมพันธ์แล้ว การตั้งคำถามกับตัวเองก็สามารถช่วยให้เรารอดพ้นจากความสัมพันธ์ Toxic ด้วยการที่เราตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตัวเอง เช่น ทำไมเราถึงรู้สึกเศร้า ทั้งที่เราอยู่ในความสัมพันธ์ที่ดูจะไปกันได้ดี ซึ่งหลายคนอาจลืมนึกถึงเรื่องนี้ไป นึกถึงเพียงแค่การพยายามรักษาความสัมพันธ์ด้วยการทำทุกวันให้ดีที่สุด แต่ลืมกลับมาดูว่าจริงๆ แล้วในความสัมพันธ์นี้เรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ ซึ่งถ้าหากเราไม่คอยตรวจสอบความรู้สึกของตัวเอง หรือความรู้สึกของอีกฝ่ายเลย สุดท้ายแล้วอาจจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่กำลังรู้สึกสูญเสียตัวตน จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในที่สุด

จะฝึกเป็นคนช่างสงสัยได้ยังไง?

การเป็นฝ่ายตั้งคำถาม อาจฟังดูเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคน ด้วยความกลัวหรือกังวลที่จะต้องดำเนินบทสนทนากับคนที่เรายังไม่เคยรู้จักหรืออาจยังไม่สนิท กังวลว่าเราจะสามารถถามคำถามอะไรได้บ้าง? จะเป็นเรื่องส่วนตัวสำหรับอีกฝ่ายไหม? เขาจะรู้สึกแย่กับคำถามเรารึเปล่า? สุดท้ายกลายว่าเป็นเราไม่กล้าเริ่มต้นทำความรู้จักกับอีกฝ่าย ทั้งที่อีกฝ่ายอาจเป็นคนที่น่ารัก หากได้รู้จักแล้วจะเป็นเพื่อนหรือคู่รักที่ดีสำหรับเรามากๆ สิ่งที่เราต้องเริ่มทำเพียงแค่ลองปลุกความเป็นเจ้าหนูจำไมในตัวเอง และเริ่มเป็นฝ่ายตั้งคำถามค่ะ

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นความสัมพันธ์หรือกำลังพยายามทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ การลองตั้งคำถามกับเรื่องเล็กๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้วค่ะ อย่างการถามคำถามเชิงบวกถึงสิ่งที่เรามองเห็นอยู่ตรงหน้า เช่น การชมเสื้อผ้า ทรงผม นาฬิกา กระเป๋า หรือเรื่องที่อีกฝ่ายดูจะสนใจ และเมื่อเราสังเกตได้ว่าอีกฝ่ายมีความสนใจในเรื่องอะไร เราก็สามารถตั้งคำถามปลายเปิดในเรื่องนั้นๆ ได้อีก ซึ่งการลองตั้งคำถามปลายเปิดนอกจากจะช่วยฝึกความช่างสงสัยในตัวเราแล้ว ยังช่วยให้เรามีบทสนทนาที่น่าสนใจและทำความรู้จักอีกฝ่ายได้ดีขึ้นด้วย

ในความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาสักระยะหนึ่ง ไม่ว่าจะกับเพื่อน ครอบครัว หรือคู่รักของเรา ถ้าเราอยากทำความเข้าใจในตัวกันและกันมากขึ้น การตั้งคำถามปลายเปิด หรือการมี Deep Conversation ระหว่างกัน ก็เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดีมากๆ เลยค่ะ

ความช่างสงสัย นอกจากจะช่วยให้เราได้พัฒนาความสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถนำไปปรับใช้กับด้านอื่นของชีวิตได้ เช่น ด้านการทำงาน ด้านการพัฒนาตัวเอง หรือแม้แต่การตามหาเป้าหมายของชีวิต

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนได้ลองกลับมาตั้งคำถาม เช็กความรู้สึกของตัวเอง คู่ของเรา หรือคนรอบข้างที่เรารัก เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันและกัน เราจะได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เข้าใจและรักตัวเองมากขึ้นด้วยค่ะ 💕

Source: Curiosity in Relationship, Why Curious People Have Better Relationships

Click to open Youtube, Spotify or Apple Podcast


Posted

in

,

by

Tags: