Triangular Theory of Love

Triangular Theory of Love เธอกับฉัน เรารักกันแบบไหน?

เพราะความรักมีหลายรูปแบบ และไม่อาจอธิบายได้อย่างครอบคลุม พามารู้จักกับทฤษฎีจำแนกความสัมพันธ์ที่ชื่อว่า Triangular Theory of Love แนวคิดที่ว่าความรักหรือความสัมพันธ์แต่ละรูปแบบ เกิดมาจากการรวมกันของ 3 องค์ประกอบสําคัญนั่นก็คือ ความใกล้ชิด ความหลงใหล และความผูกมัด

Triangular Theory of Love

Triangular Theory of Love หรือ ‘ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก’ ถูกคิดค้นขึ้นโดย Robert J. Sternberg นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่ช่วยให้เข้าใจความรักแต่ละแบบ และสำรวจได้ว่าความสัมพันธ์ของคุณตอนนี้เป็นแบบไหน

ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรักนี้ มีแนวคิดว่าความรักหรือความสัมพันธ์แต่ละรูปแบบ เกิดมาจากการรวมกันของ 3 องค์ประกอบเหล่านี้

  • Intimacy: ความใกล้ชิด
    ความรู้สึกสนิท หรือผูกพันกับใครสักคน สบายใจที่จะอยู่ด้วย โดยพื้นฐานของความใกล้ชิดที่ดีมักเกิดจากการสื่อสารที่ดี ทำให้เราสบายใจที่จะพูดคุย แบ่งปันเรื่องราว แลกเปลี่ยนความคิด จนรู้จักและเข้าใจกันและกันมากขึ้น
  • Passion: ความหลงใหล
    ความคลั่งไคล้ หรือความรู้สึกถูกดึงดูดจากอีกฝ่าย ที่ส่งผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาจแสดงออกมาในรูปแบบของความชอบ ความคิดถึง อยากไปอยู่ใกล้ หรืออยากมีความสัมพันธ์ทางกายด้วย
  • Commitment: ความผูกมัด
    ความจริงจังในความสัมพันธ์ ที่เกิดจากการตัดสินใจจะรักษาความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายไปในระยะยาว เช่น จดทะเบียนสมรส การแต่งงาน การมีลูก เป็นองค์ประกอบที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์มากกว่า 2 องค์ประกอบแรก

โดยความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากการรวมกันของ 3 องค์ประกอบสำคัญเหล่านี้ สเตนเบิร์กแบ่งออกเป็น 8 รูปแบบดังนี้ค่ะ

  • Friendship Love: ความสัมพันธ์แบบเพื่อน (Intimacy)
    ความสัมพันธ์ที่มีแต่ความใกล้ชิด เข้าใจกันและหวังดีต่อกันเสมอ แต่ไม่มีความหลงใหลในกันและกัน และไม่คิดจะพัฒนาความสัมพันธ์ไปไกลมากกว่าความเป็นเพื่อน
  • Infatuation Love: ความรักแบบหลงใหล (Passion)
    ความสัมพันธ์ที่มีแต่ความหลงใหล โดยที่ไม่ได้รู้จักตัวตนของกันและกันมากพอ และไม่อยากพัฒนาความสัมพันธ์ไปมากกว่านี้ เช่น ความรู้สึกรักแรกพบ หรือความสัมพันธ์แบบ One Night Stand
  • Empty Love: ความสัมพันธ์ที่ไร้ความรัก (Commitment)
    ความสัมพันธ์ที่อยู่บนข้อผูกมัด ปราศจากความรัก ความเสน่หา เช่น การคลุมถุงชนในสมัยก่อน หรือแม้แต่คู่รักที่ใช้ชีวิตด้วยกันมาอย่างยาวนาน แต่หมดทั้งเสน่หาและความใกล้ชิดที่มีต่อกัน เหลือเพียงข้อผูกมัดบางอย่างทำให้ยังอยู่ด้วยกัน
  • Romantic Love: ความรักแบบโรแมนติก (Intimacy + Passion)
    เป็นความรักที่เกือบสมบูรณ์แบบ เพราะมีทั้งความใกล้ชิดและความหลงใหลในกันและกัน มักจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์ แต่ยังไม่ถึงขั้นจริงจังที่จะวางแผนเพื่อมีความสัมพันธ์ระยะยาว
  • Fatuous Love: ความรักแบบมายาคติ (Passion + Commitment)
    ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคงและเสี่ยงเลิกราได้มากที่สุด เพราะมีเพียงค
    วามหลงใหลเป็นตัวตั้งต้น แต่ข้ามขั้นไปถึงการผูกมัด โดยที่ยังขาดความเข้าใจ หรือไม่รู้จักในตัวตนของกันและกันดีมากพอ มักเกิดจากความชอบพอกันและตัดสินใจแต่งงานกันอย่างรวดเร็ว
  • Companionate Love: ความรักแบบมิตรภาพ (Intimacy + Commitment)
    เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากความใกล้ชิด และการอยู่ด้วยกันมาอย่างยาวนาน โดยปราศจากความเสน่หา เป็นความรักแบบครอบครัว เพื่อนสนิทที่รู้ใจ หรือคู่รักที่อยู่ด้วยกันมานาน ถือเป็นหนึ่งในความรักที่มั่นคงและยืนยาวที่สุดค่ะ
  • Consummate Love: ความรักที่สมบูรณ์แบบ (Intimacy + Passion + Commitment)
    เป็นความสัมพันธ์ที่มีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ด้าน เรียกได้ว่าเป็นชีวิตคู่ในอุดมคติเลยค่ะ ทั้งมีความรู้ใจกันเหมือนเพื่อน และยังคงรักษาความหลงใหลที่มีให้กันได้ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะช่วยกันดูแลรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาวด้วยค่ะ
  • Non-love: ไม่มีความรัก
    อีกหนึ่งประเภทความสัมพันธ์ ที่ไม่มีทั้ง 3 องค์ประกอบ เรียกได้ว่าเป็นคนที่ไม่มีความสัมพันธ์ หรือเพิ่งรู้จักกันค่ะ

รูปแบบของความสัมพันธ์สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ตลอด แต่ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์รูปแบบใด หากทั้งสองฝ่ายพอใจและไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะมีความสุขกับรูปแบบความรักของตัวเองได้เสมอค่ะ ความรักหรือความสัมพันธ์ที่ดี ไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือการช่วยกันดูแลรักษาความสัมพันธ์ของเราบนพื้นฐานของความรักและความเข้าใจลองเช็กความสัมพันธ์ของตัวเองแบบง่ายๆ ด้วย Triangular Theory of Love นี้ แชร์ให้คนใกล้ตัวหรือคนที่เรารักเช็กด้วยกันก็ได้นะคะ ว่าตอนนี้ความสัมพันธ์ของเราเป็นแบบไหน ยังเป็น Healthy Relationship อยู่รึเปล่า หรือถึงเวลาที่ต้องเติมไฟให้รักกลับมาร้อนฉ่าอีกครั้งรึยังนะ 👀❤️‍🔥 

Youtube, Spotify and Apple Podcast

 


Posted

in

,

by

Tags: